Micro-location นวัตกรรมใหม่สำหรับการตลาดค้าปลีก

            หลายปีที่ผ่านมาเราจะคุ้นเคยกับการตลาดแบบ Location Based ที่ทำงานร่วมกับเทคโนโลยี GPS เพื่อให้ธุรกิจสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคในพื้นที่นั้นๆ ได้ เรียกว่ากลยุทธ์การตลาดที่ตอบสนองผู้บริโภคได้อย่าง ถูกตัว ถูกใจ และ ถูกเวลา

            อย่างไรก็ตามด้วยความสามารถของเทคโนโลยี GPS ที่กำหนดตำแหน่งด้วยดาวเทียม ทำให้เกิดข้อจำกัดการใช้งานที่มาจากสิ่งกีดขวาง เช่น ไม่สามารถกำหนดตำแหน่งภายใต้อาคารได้ ไม่สามารถกำหนดตำแหน่งอย่างละเอียดหรือใกล้ๆ ได้ หรือ ไม่สามารถทราบระดับชั้นได้ เป็นต้น มันจึงเป็นอุปสรรคที่ไม่สามารถประยุกต์ใช้กับการตลาดค้าปลีกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            ลองจินตนาการตามว่า
            คุณเดินในช็อปปิ้งมอลล์ เดินผ่านร้านที่คุณเป็นลูกค้าประจำ จากนั้นก็มีข้อความส่งมาถึงคุณผ่านโมบายว่า คุณได้รับสิทธิพิเศษ เนื่องจากคุณเป็นลูกค้าประจำ จากนั้นคุณก็ขอรับสิทธิพิเศษนั้นผ่านโมบาย ซึ่งไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนหรือร้านที่เป็นลูกค้าประจำ คุณก็จะได้รับข้อความที่ตรงใจคุณและตรงเวลาด้วย หรืออาจจะเป็นโฆษณาหน้าจอทีวีหน้าร้าน อย่างในหนังเรื่อง Minority Report
            คุณสามารถทราบเส้นทางไปยังร้านค้าที่คุณต้องการจากตำแหน่งที่คุณอยู่ปัจจุบัน ไม่ว่าคุณจะอยู่ชั้นไหนก็ตาม
            อย่างนี้คุณจะชอบหรือไม่?

            ตัวอย่างที่ยกมาไม่ได้เกินจริงและปัจจุบันสามารถทำได้แล้วด้วย นวัตกรรมใหม่หรือเทคโนโลยีที่ผมกำลังพูดถึงนี้เรียกว่า iBeacon ที่เป็นเซ็นเซอร์แบบไร้สายผ่านสัญญาน Bluetooth ที่ใช้พลังงานต่ำ ที่จะสื่อสารกับโมบายในระยะไม่เกิน 70 เมตร ซึ่งเราสามารถกำหนดได้ว่าต้องการสื่อสารที่ระยะเท่าไร เช่น สื่อสารเฉพาะโมบายที่เข้ามาใกล้เซ็นเซอร์ในระยะ 3 เมตร หรือจะ 50 เมตรก็ได้ จึงเรียกกันว่า Micro-location

            ที่สำคัญคือมันสามารถใช้งานได้กับ Android และ iOS ซึ่งจะแตกต่างจากเทคโนโลยี Near Field Communication (NFC) ที่ค่าย Android พยายามผลักดัน แต่ค่าย Apple ไม่ยอมรับ ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรและอาจจะถึงขึ้นตายไปเลยก็ได้

ข้อจำกัดของ iBeacon มีเพียง 3 อย่างคือ

  1. ผู้บริโภคจะต้องติดตั้งแอปพลิเคชั่นก่อน เพื่อที่จะคุยกับเซ็นเซอร์ iBeacon นั้นๆ แต่ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องเปิดแอปพลิเคชั่นตลอดเวลาก็ได้ เพราะว่ามันสามารถทำงานอยู่เบื้องหลังได้
  2. ผู้บริโภคจะต้องเปิดสัญญาน Bluetooth ตลอดเวลา แต่ข่าวดีคือ เทคโนโลยี Bluetooth จะกินพลังงานต่ำมาก (BLE : Bluetooth Low Energy) และมันเป็นเทคโนโลยีกลางที่ทุกค่ายและอุปกรณ์อื่นๆ ใช้กัน จึงไม่แปลกที่ผู้บริโภคจะเปิดสัญญาน Bluetooth ตลอดเวลาอยู่แล้ว ข่าวดีที่สำคัญคือ ผู้บริโภคไม่ต้อง Paring กับเซ็นเซอร์ iBeacon เหมือนกับอุปกรณ์อื่นๆ อย่างลำโพงไร้สารหรือนาฬิกา Smart Watchเป็นต้น
  3. สุดท้าย ผู้บริโภคยังมีสิทธิ์ที่จะขอรับหรือไม่รับข้อความก็ได้ ดังนั้น ถ้าคุณส่งข้อความมากเกินไป จนเป็นการรบกวน พวกเขาก็จะไม่ขอรับสิทธิ์ก็ได้

            แล้วนักการตลาดจะใช้ iBeacon กับการตลาดค้าปลีกได้อย่างไร?

  • สร้างประสบการณ์ใหม่ของลูกค้าในการช็อปปิ้ง โดยเฉพาะภายในห้างสรรพสินค้าที่ GPS ไม่สามารถตอบสนองได้ ห้างสรรพสินค้าสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้ตลอดเวลา
  • ให้ข้อมูลข่าวสารของห้างหรือร้านค้า ทุกๆ ที่ๆ มีเซ็นเซอร์ iBeacon ผู้บริโภคก็สสามารถได้รับข้อมูลข่าวสาร โดยที่เราสามารถระบุระยะทางที่ต้องการให้ผู้บริโภคจะได้รับก็ได้ หรือใช้บอกเส้นทางไปยังร้านค้าต่างๆ ได้
  • ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ เนื่องจาก iBeacon สามารถทำงานในระยะใกล้ได้ เช่นน้อยกว่า 1 เมตร เมือผู้บริโภคเดินเข้าใจผลิตภัณฑ์ที่สนใจ เช่น รองเท้า กระเป๋า เป็นต้น ข้อมูลของรองเท้าก็จะปรากฎที่หน้าจอโมบายทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาสแกน หรือค้นหา คุณอาจจะให้ข้อมูลรุ่น สี ขนาดที่มี จำนวนสินค้าในสต็อก หรือส่วนลดพิเศษเฉพาะลูกค้ารายนั้นก็ได้
  • ผสมผสานระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์ ปัจจุบัน ผู้บริโภคจะค้นหาข้อมูลสินค้าในอินเตอร์เน็ตแล้ว ก็ไปซื้อสินค้าที่ร้านค้า ถ้าผู้บริโภคกด Like หรือ Mark สินค้าที่ร้านค้านั้นในเว็บไซต์ เราก็จะสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคนั้น เมือมาที่ร้านค้าจริง และช่วยเขาในการหาสินค้านั้นด้วย

            จริงแล้วเรายังสามารถประยุกต์ใช้ iBeacon ได้อีกมาก แต่นี่เป็นเพียงแค่การเริ่มต้น จากนี้ไปผมรับรองได้ว่าเทคโนโลยีนี้จะอยู่ไม่ไกลตัวคุณอีกต่อไป

นาวิก นำเสียง

กรรมการผู้จัดการ

บริษัท ซันเด โซลูชันส์ จำกัด

navik@sundae.co.th

เกี่ยวกับ คุณนาวิก นำเสียง

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซันเด โซลูชันส์ จำกัด

คณะกรรมการ สมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย (TMRS)

ผู้เชี่ยวชาญในการตลาดออนไลน์และการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) โดยเป็นที่ปรึกษาและวิทยากรบรรยายให้กับหน่วยงานต่างๆ

อดีตเป็นบุกเบิกธุรกิจออนไลน์ในยุคแรก เป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ยำใหญ่ (YumYai.com) และผู้บริหารเว็บไซต์ต่างๆ

ติดตามคุณนาวิกได้ที่ Twitter.com/navikn

(Source : คุณนาวิก นำเสียง)

Share